สร้างชุดฟังเสียงน๊อค DIY Knock Amplifier




ในหลายๆครั้งที่รถยนต์มีปัญหา หนึ่งในการบอกอาการ หรือข้อขัดข้องที่ใช้บ่อยที่สุด คือก็บอกเสียง
"เอ่อ...เวลาเร่งแล้วมันมีเสียงหนะครับ เสียงเหมือนอะไรสีกัน " แน่นอน รถยนต์มันประกอบด้วยหลายๆส่วน และเมื่อเกิดความบกพร่อง เสียงก็มักจะเป็นส่วนประกอบของอาการต่างๆด้วยเช่นกัน

โดยมากเวลาผมสงสัยว่าเสียงอะไรมันดัง จากตรงไหนของเครื่องยนต์ ก็มักจะเงี่ยหูฟังเป็นปกติ
ยกเว้นบางจุดที่มันอยู่ลึกเข้าไปในอุปกรณ์ ก็อาจใช้วิธีโบราณ คือหาไขควงเหล็กมาจิ้มไปยังจุด
ที่ต้องการฟังเสียง แล้วแนบหูฟังว่ามันปกติมั้ย อาทิเช่นลูกปืนปั๊มพาวเวอร์ แต่วิธีนี้ต้องระวัง
ไม่ใช่แหย่ๆ จิ้มๆไป โดนตรงไหนที่เป็นจุดหมุนอาทิ พูลเล่ย์ หรือสายพาน หรือเป็นจุดที่ใกล้ระบบจุดระเบิด อาทิกะลา จานจ่าย เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องเจ็บตัวกันเปล่าๆ






นอกจากเสียงผิดปกติของอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆแล้ว อีกเสียงหนึ่งที่ไม่น่าโสภาเอาซะเลยคือเสียงเครื่องน๊อค เสียงเครื่องน๊อคนี้ มันต้องอาศัยการฟังพอสมควรในอดีตผมซื้อประสบการณ์การฟังเสียงน๊อค
มาด้วยเครื่องหนึ่งตัว......เล่าย้อนความหลังกันสักหน่อย เมื่อก่อนผมประกอบเครื่องเล่น ซึ่งเครื่องที่ประกอบเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบ ที่ติดตั้งเทอร์โบเข้าไปเอง เมื่อมีระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบนี้แล้ว
ความแรงที่ได้มันก็ต้องมากขึ้นเป็นธรรมดา แต่การปรับจูนเพื่อรับมือกับเจ้าเทอร์โบกับนักประกอบเครื่องมือใหม่นั้น มันช่างเป็นเรื่องที่ยากเย็นพอสมควร  ประกอบเสร็จรถก็วิ่งดี แต่มีเสียงเหมือนวาล์วดังในรอบสูงๆ เสียงเล็กไม่ดังมากนัก ค่อยๆดัง แกร๊กๆๆๆ ดังรัวๆ มาในแต่ละเกียร์ และสุดท้ายอายุเครื่องของผมก็นับชั่วโมงได้ 
หลังจากนั้นระยะเวลาผ่านไปอีกหลายเดือนกับการ อดออม อดทน ประกอบเครื่องตัวใหม่จนลุล่วง แต่เมื่อเอาไปลองวิ่งไอ้วาล์วนี่ก็ยังดังเหมือนเดิม จึงเริ่มเอะใจ  เฮ้ยถ้ามันไม่ใช่เสียงวาล์วหละ มันจะเสียงอะไร  ในยุคอินเตอร์เนตยังไม่แพร่หลาย มันไม่มีใครบอกกันหรอกว่าเสียงมันยังงั้นยังงี้ สุดท้ายไม่รู้อะไรดลใจทำให้ผมเดาว่ามันเป็นเสียงน๊อค จากสมมุติฐานนั้นทำให้อายุเครื่องตัวนั้นอยู่มาอีกหลายปี

ในเครื่องยนต์สมัยใหม่ มักจะมี knock sensor ติดตั้งมาด้วย โดยใช้หลักการการสั่นของผลึกแร่ เพื่อกำเนิดเป็นกระแสไฟฟ้า และส่งสัญญาณบอกกล่องคอมพิวเตอร์ควบคุมเครื่องยนต์ว่า ค่าน๊อคตอนนี้เป็นอย่างไร กล่องควบคุมก็จะนำค่านี้ ไปคำนวณร่วมกับค่าอื่นๆเพื่อ  สั่งจุดระเบิด ปรับแก้กันตามที่โปรแกรมไว้ เป็นต้น


เอาหละทีนี้นอกจากเราจะมีเจ้า knock sensor แล้วซึ่งนั่นมันเป็นเรื่องของกล่องคอมพิวเตอร์ ในบางครั้งถ้าเราอยากฟังเสียงด้วยหูของเราเองต้องทำอย่างไร ฝรั่งเมืองนอกก็มีทำชุดหูฟังสำหรับผู้มีอาชีพจูนรถกันอยู่หลายยี่ห้อ นอกจากนั้นถ้าหากเราลองค้นหาใน google ก็มีคนทำกันแบบ บ้านๆ อยู่ไม่น้อย
วันนี้ชวนมาดูชุดฟังเสียงน๊อคแบบบ้านๆ ของผมกันบ้าง

อุปกรณ์
- ชุดวงจรช่วยฟังเสียง (สำหรับผู้มีปัญหาทางการรับฟัง) 
- กลักถ่าน ขนาด โวลท์ที่ใช้กับวงจร
- สายไฟแบบที่ไส้สองเส้น เหมือนสาย หูฟังนั่นหละ เอายาวสัก 3-4 เมตรก็ได้
- แจ๊ค 3.5 มิลตัวเมีย
- กล่องใส่วงจรเอนกประสงค์
- ตัวหนีบปากไอ้เข้ 
- อุปกรณ์บัดกรี หัวแร้ง ตะกั่ว ฟลักซ์
- อีพอกซี่แบบดินน้ำมัน ผสมสองส่วน
- หูฟัง

เอาหละ เริ่มจาก ชุดวงจรช่วยฟังเสียง ใครจะซื้อเครื่องช่วยฟังมายำก็ได้ ประหยัดเวลาไป แต่สำหรับผม
จะเล่นแล้วก็ต้องได้ทำอะไรซะหน่อยพอให้ได้รู้สึกสนุก เลยเสิร์ชเน็ต หาซื้อแต่วงจรเอามาบัดกรีเอง
ซึ่งตั้งใจว่าจะสอนแฟนให้บัดกรีเป็นซะที เลยคิดว่านี่หละวงจรง่ายๆที่ควรจะเริ่ม
ตัววงจรไม่มีอะไรมาก มันเอาไมค์ไปรับเสียงแล้วมาขยายออกที่หูฟังจบ มันมีแค่นั้นจริงๆ
ในส่วนของกลักถ่านนั้น วงจรของผมใช้ไฟ 3โวลท์ เลยใช้กลักถ่าน 2ก้อน อันที่จริงถ้าอยากให้ประหยัดพื้นที่สามารถใช้ถ่านกระดุมตระกูล CR ได้เช่นกัน 

ขั้นตอน
- ไม่มากและไม่ยากครับเป็นอิเลคทรอนิกส์ง่ายๆ เริ่มจากบัดกรีวงจรให้เสร็จเสียก่อน เรื่องของตัวความต้านทาน หรือการวางคาปาซิเตอร์ ผมแนะนำให้เสิร์ชเอานะ 



-เมื่อวงจรเสร็จแล้ว เราจะไม่เอาส่วนของไมค์โครโฟนประกอบเข้าวงจร  แต่เราจะทำการต่อสายยาวไปยังจุดที่เราต้องการจะฟังเสียง คือในห้องเครื่อง ดังนั้นเราจะใช้ตัวหนีบปากไอ้เข้ตัวใหญ่หน่อย หนีบไมค์ไปยังจุดต่างๆ ก็ทำการเอาไมค์ทากาวนิดหน่อยติดที่ปากไอ้เข้แล้วเอาอีพอกซี่พอกรอบๆเพื่อผสานมันเป็นเนื้อเดียวกับตัวหนีบ แต่ต้องเว้นส่วนที่เราจะบัดกรีขั้วสายไฟเอาไว้ รวมถึงด้านรับเสียงต้องแนบกับผิวของตัวหนีบนะครับ จากนั้นบัดกรีสายต่อเข้าแผ่นวงจรได้เลย




- บัดกรี กลักถ่าน บวกเข้าบวก ลบเข้าลบ

- บัดกรีแจ๊ค 3.5 ตัวเมีย เพื่อใช้เสียบหูฟัง ต่อสายเข้าแผ่นวงจร ซึ่งวงจรของผมนั้นมันไม่ได้แยกเสียงซ้ายขวา ผมก็เลยตัดสินใจว่าเอาให้เสียงมันออกหูซ้ายละกัน หูขวาเผื่อเอาไว้ฟังเสียงอื่นๆ 
มีเพื่อนถามว่า มึงไม่ต่อออกลำโพงรถเลยหละ ต้องขอบอกว่าต่อได้ครับ แต่คงฟังไม่รู้เรื่องอันไหนเสียงน๊อคเสียงอะไรมั่วไปหมดทีนี้





- เอาวงจรใส่กล่องเอนกประสงค์ เป็นอันจบ



เอาหละเราได้อุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังแบบบ้านๆมาแล้ว ทีนี้ก็ลองเลยเอาปากไอ้เข้ของเราไปหนีบในจุดที่เป็นเสื้อสูบยิ่งชิดผนังเสื้อสูบเท่าไหร่ยิ่งดี หรือยิ่งถ้ารู้ว่าน๊อคเซนเซอร์ของเครื่องอยู่ตรงไหน เราก็เอามันไปหนีบไว้ในบริเวณที่ไม่แตกต่างกันก็ดี จากนั้นใส่ถ่านใส่หูฟัง สตาร์ทเครื่องแล้วก็ฟังมันซะให้รื่นรมย์
ในกรณีที่รถเราปกติดี ก็ฟังแล้วจดจำไว้ครับเพราะเมื่อไหร่ที่มันไม่ปกติ เสียงมันก็จะบอกเราได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้เรายังประยุกต์มาใช้ฟังเสียงสิ่งต่างในห้องเครื่องแทนการเอาไขควงแหย่ เอาหูแนบ ตามวิธีข้างต้นได้อีกด้วย 

สำหรับผมจากการทดลองเล่นๆ โดยการนำเอารถน้องชายที่เป็นรถเทอร์โบไปทดลองวิ่งฟัง  ตัวรถมีปรับจูนน้ำมันมาบ้าง (โดยไม่ได้ปรับแรงดันเทอร์โบเพิ่ม )

ตอนแรกของการทดลองนั้น ปรับจูนกลับไปเป็นค่าเดิมๆจากโรงงาน ฟังเสียงดู เออเสียงมันก็เหมือนปกตินะ ไม่มีน๊อค แกร๊กๆอะไร เพราะมันเดิมๆอยู่แล้ว แต่มันดูแห้งๆ 

หลังจากนั้นลองอีกครั้งคือตั้งค่าการปรับจูนน้ำมันเพิ่มขึ้นเหมือนที่ได้ทำไว้ก่อนแล้ว 

ปรากฎว่าเออมันวิ่งแฮะ แถมเสียงมันไม่แห้งด้วย ในกรณีมันไม่มีเสียงน๊อคอะไรให้ได้ยินจากผนังเสื้อสูบ 
แต่ก็ได้รับรู้ว่า ไอ้ที่ว่าแห้ง ไม่แห้ง มันยังไง เพราะน้องชายก็บอกเลยว่ารถมันวิ่งต่างกันจนรู้สึกได้ 
เสียงที่ได้ยินชัดเจนพอๆกับลงไปนอนในห้องเครื่อง แล้วเอาหูแนบผนังเสื้อสูบในขณะรถวิ่ง 
อีกทั้งยังสามารถปรับความดัง -เบา จากตัวหูฟังได้อีกด้วย
ก็สรุปได้ว่ามันใช้การได้แฮะ ต่อไปอาจจะได้ใช้ฟังเวลาจูนๆอะไรบ้างหละ

เอาหละสำหรับวันนี้ขอไปนอนก่อน




ก่อนลาจากกันในค่ำคืน 13/10/2018 อยากบอกว่า คิดถึงในหลวง ครับ






หมายเหตุ หนูทดลองในวันนี้คือ - Mitsubishi Lancer Evolution IV


บทความที่ได้รับความนิยม