สเวิร์ลแชมเบอร์ #ภาคแรก จูนปั๊มสาย ปรับบูสท์




ในช่วงรอยต่อของ Chevy มาสู่ Pajero นั้นเป็นช่วงที่วุ่นวายไม่น้อย เพราะไม่มีรถจะใช้ คือจริงๆก็มีนั่นแหละ แต่มันก็ไม่ได้สมบูรณ์นัก คันนึงก็เป็นอีแดง แอคคอร์ดคู่บุญ ส่วนอีกคัน เป็นกระบะฟอร์ด ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ออกจะวุ่นหน่อยเพราะ คนอื่นมีรถใช้กันหมด ตัวเองก็เลยควงสองคันนี้ไปพลางๆอยู่เดือนกว่า เป็นที่มาของความคันไม้คันมืออย่างต่อเนื่อง เรื่องมันเริ่มตั้งแต่ขับเชฟแล้วตีนหนักจนเป็นนิสัย แรกๆก็ใช้ฮอนด้า ก็ทันใจอยู่เพราะแรงดี แต่เมื่อฮอนด้ากลับมารวนเรอีก เลยอยู่ๆต้องอวตารลงมาขับ ฟอร์ดแก่ๆ ก็เหมือนคนเคยขี่ม้าแล้วกระโดดมาขี่ควาย เฆี่ยนเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น เอาเป็นว่า 140 นี่อย่างอืด
กอปรกับ ถนนเมืองไทย มันก็เหมือนสายน้ำ ที่มีปลาใหญ่ไล่ปลาเล็กอยู่ตลอดเวลา ไอ้พวกคอมมอนเรล นี่ขาประจำเห็นกระบะแก่ๆเมื่อไหร่ เป็นต้องไล่ให้พ้นทาง มันก็เหมือนปมด้อยอ่ะนะ ตีไฟเลี้ยวหลบแล้วก็นึกในใจว่า เดี๋ยวเจอกรู
โครงการฟื้นฟูสมรรถนะ เจ้ากระบะผี ในตำนานก็เริ่มขึ้น ตัวรถเดิมๆผ่านการใช้งานอย่างสมบุกสมบัน แบบไหนไม่อาจจะกล่าว เอาเป็นว่าต้องปรับปรุงหนัก ฟอร์ด แรนเจอร์ เครื่องยนต์ ดีเซล 12 วาล์ว จ่ายน้ำมันระบบปั๊มกลไก - ระยะทางการใช้งาน 144,xxx (เซอร์วิสครั้งสุดท้าย คือประกันศูนย์ หลังจากนั้น เปลี่ยนน้ำมันเครื่องอย่างเดียว) - ช่วงล่าง และ ระบบเบรคไม่ขอกล่าวถึง สิ่งแรกที่ลงมือทำกับเจ้ารถคันนี้คือ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง โดยกระโดดไปเล่น น้ำมันเครื่องที่น่าจะเกรดดีที่สุด แต่ค่าความหนืดเท่าเดิมตามมาตราฐานโรงงาน ตามด้วย กรองน้ำมันโซล่า กรองอากาศ วาล์วน้ำ ท่อยางหม้อน้ำ สายน้ำมันต่างๆ อ้อและที่สำคัญ สายพานราวลิ้น - ในเบื้องต้นรถกลับมามีกำลังวังชาขึ้นมาก เรียกได้ว่าเริ่มเหมือนวันแรกๆที่ได้ขับมันออกมาจากศูนย์ รอบเครื่องไหลลื่นจนคนนั่งข้างออกปากว่าลื่นดี



กระบวนการซุกซนยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะความสนุกมันพึ่งเริ่มต้น เนื่องด้วย การจ่ายน้ำมันระบบปั๊มกลไกของเครื่องตัวนี้ เป็นเครื่องเทอร์โบ จึงมีระบบไดอะแฟรม ที่หัวปั๊มเพื่อรับแรงดันจากบูสท์มากดให้มีการจ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น เป็นที่มาของสเตปต่อมา นั่นคือ สลับสาย!! - ความคิดบ้าๆอุตริ และเพี้ยนๆนี้ เกิดขึ้นในสมอง แต่ดันสอดคล้องกับชาวออสซี่จำนวนหนึ่งในโลกโซเชียลที่ใช้รถยนต์รุ่นนี้ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องรีรอ โดยรวมแล้วไม่มีอะไรซับซ้อน สายที่เข้าไปกดหัวปั๊มเดิมจะถูกต่อจากท่อ “ที่อากาศผ่านอินเตอร์คูลเลอร์มาแล้ว “ ส่วนอีกจุดหนึ่งคือ “สายเข้าเวสต์เกทกระป๋องที่ต่อจากหน้าโข่งไอดีของเทอร์โบ” หลักการคือ การจ่ายชดเชยให้ไวขึ้นก่อนที่บูสท์จะมา การนำเอาสายมาสลับจุดต่อจะได้บูสท์ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย + การจ่ายน้ำมันรอบูสท์ไวกว่าเดิมเช่นกัน ดังนั้น + สายที่เข้ากดหัวปั๊ม ต่อมาจากโข่งไอดี (แรงบูสท์จะกดหัวปั๊มไวกว่า รอให้ผ่านอินเตอร์คูลเลอร์มาก่อน) + สายที่เข้าเวสท์เกต ต่อจากหลังอินเตอร์คูลเลอร์ (แรงบูสท์จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากความช้าของปริมาตรอากาศในท่อไอดี กว่าจะเต็มจนถึงแรงดันที่เวสท์เกตกำหนด) สรุปผลการทดลองนี้ วิ่งดีกว่าเดิมขึ้นเล็กน้อย รถมีกำลังขึ้นในช่วงที่เริ่มติดบูสท์ แล้วมันจะพออะไรในเมื่อต้องโดนขืนใจจากพวก คอมมอนเรลทุกวัน ในส่วนต่อไป เรื่องราวชีวิตมันก็เข้มข้นขึ้นเป็นธรรมดา เพราะที่ตัว ไดอะแฟรมหัวปั๊มนี้ สามารถปรับแต่งได้ เมื่อค้นหาข้อมูลแล้วนั้นก็มีเซียนสอนปรับกันอยู่ แต่ถ้าปรับตามเซียนโดยไม่ได้เข้าใจ จะได้อะไรนอกจาก จะบอกเพื่อนว่า กรูปรับตามในเน็ตอ่ะ ก็เลยต้องค้นหาข้อมูลอีกพักใหญ่กว่าจะสมใจจ๊อด สุดท้าย ได้ตำราที่อธิบายอะไรๆ ละเอียดขึ้นมาอ่านจนเริ่มเข้าใจหลักการทำงานที่แท้จริงแล้ว ** ต้องบอกก่อนว่า ไม่ได้ต้องการทำจนแรงมากมายแค่มีเป้าหมาย จะฟัดกับคอมมอนเรล เดิมๆ ที่ซ่าส์กันทั่วถนนทุกวันนี้ เป็นพอ ** จากความประสงค์เบื้องต้นพอจะเข้าเค้าเลยว่า การปรับชดเชยน้ำมันที่หัวปั๊มนี้เหมาะที่สุด เพราะยังไม่ต้องไปเสียตังค์ที่ไหน แถมเวลาวิ่งไม่บูสท์มันก็ยังกลับมาประหยัดเป็นอีแก่ตัวเดิมได้ด้วย พูดง่ายๆ มันเหมือนมีชุดสวยให้เมียใส่หวือหวา ออกงานราตรี และแน่นอน พอกลับมาบ้านมันก็มานอนอืดเกาพุงเหมือนเดิม


สุดท้ายการปรับปั๊มครั้งแรกก็เกิดขึ้น โอเค เราจะเริ่มจากการปรับกรวยเพื่อฉีดน้ำมันชดเชยเมื่อเครื่องติดบูสท์ กรวยที่ว่า มันค่อนข้างจะไม่สมมาตรนัก ด้านที่เว้ามากจะทำให้ขาคันเร่งสามารถเปิดการฉีดได้มากขึ้น ในครั้งแรกนี้ก็กล้าๆกลัวๆนะ มันไม่ใช่หัวฉีดเบนซินที่เคยเล่น ถ้าเป็นหัวฉีดนี่ จับสายไฟมิกซ์ๆ เผลอๆวิ่งกว่าเดิม แต่นี่มันเหมือนย้อนกลับไปนั่งจูนเครื่องด้วยไขควง สไตล์คาร์บู ปรับครั้งแรก ผลที่ได้ เอออ แฮะ มันลื่นเว่ยเฮ้ย เอาหละมึง เจอกรู ด้วยกล้ามที่พอมี ก็เริ่มหาตัวเทียบ และผู้โชคร้ายคือรถปั๊มสายค่ายยอดฮิต 2.5 DDI ที่โดนเฉือนไปที่ความเร็ว 140 เป็นต้นไป บรายส์ไปหนึ่งรุ่น ถึงแม้จะไม่ใช่คอมมอนเรล แต่ไอ้นี่มันชอบมาในคราบรถส่งของ มาดันแล้วดันเล่าประจำ โอเค นี่ถ้าเป็นเครื่องบินรบสมัยก่อนก็ได้ติดดาว 1 ดาวแล้ว ในระยะเวลาต่อมา สิ่งที่พิสูจน์ได้ถึงความเป็นคนในตัว ก็คือความไม่พอ 5555 การปรับจูนครั้งที่สองจึงเริ่มขึ้น เช้าวันอาทิตย์ หลังจากผ่านคืนที่ใจเรียกร้องมาทั้งคืน เรียกร้องให้จูนมันอีก จนอยู่ๆเด้งขึ้นมาจากเตียงตอนตีห้า เอาแม่มเลย และแล้วย่ำรุ่ง ของวันนั้นก็ได้ตามใจอยากมันดีดขึ้นอีกเยอะ เนื่องจากเป็นการปรับจูน ทั้งกรวยการฉีดน้ำมันชดเชย การปรับสปริงให้ ชดเชยไวกว่าเดิมด้วย เรียกได้ว่าดีดเลยหละ เวลาผ่านไปสองสามวัน มานั่งคิดๆ ลืมอะไรไปมั้ย คำตอบคือลืม ยังไม่ได้ตั้งวาล์วเลย เครื่องอายุ 144,xxx ใช้งานผ่านหลายบาทา ยังไม่เคยตั้งวาล์ว อ่ะตั้งซะหน่อย แต่ก็นะ ไอ้กิจกรรมนี้มันต้องไปวุ่นๆในห้องเครื่อง มันก็เลยเถิดสิครับ เป็นที่มาของการปรับจูนอีกครั้งหนึ่ง สำหรับครั้งนี้ เป็นการทดลองเพิ่มการปรับกรวยฉีดน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก บวกรองแหวนเวสท์เกตเพิ่มอีกสัก 3 มิล เพื่อความจี๊ด ผลที่ได้คือรู้สึกเลยว่ารถมีกล้าม กล้ามเป็นมัดขึ้นแล้วด้วย ออกล่าเหยื่อต่อไป นับจากวันนั้น จนปัจจุบันยังไม่มีตัวอะไรมาให้ลองเลย เพราะขับสนุกเอะอ่ะกดตลอดมันก็เร็วกว่าชาวบ้านเค้าไปหมด ยังไม่เจอตัวจับจังๆ ในส่วนของความประหยัด ทำไปทำมาประหยัดกว่าเดิม เพราะกดนิดเดียว เดินไปเลยยาวๆ ไม่ต้องเค้นเพื่อให้รถวิ่งเหมือนแต่ก่อน เออมันก็ดีแฮะ

อ้อลืมบอกไป ขั้นตอนต่างๆในการปรับก็ทำเป็น Log เก็บเอาไว้หมด เผื่อไว้ว่าวันนึงจะกลับสภาพเดิมๆ อีกทั้งยังช่วยให้การวิเคราะห์ทำได้ง่ายขึ้น ว่าปรับอะไรไปอาการเป็นอย่างไร ในสเตปเบื้องต้นนี้ ยังคงไว้ซึ่งกรองอากาศเดิมๆ ที่มีท่อทางย้วยๆดูดผ่านซอกกันชนหน้า และเดินท่อมาตามซุ้มล้อ ในส่วนของท่อไอเสียนั้นก็น่าจะมีขนาด 2.2 นิ้วโดยประมาณ และยังคงมี แคทตาไลติค อยู่ด้วย ปล. EGR ได้ทำการทดลองอุดไปเพื่อลดปริมาณเขม่าในน้ำมันเครื่อง ที่แอบโดนแหวนลูกสูบกวาดลงไปรวมกับเค้าด้วย เพราะน้ำมันเครื่องมันไม่ใช่สีน้ำตาล แต่สีมันจะดำๆเขม่าๆ และกำลังจะพิจารณาการนำ EGR มาใช้อีกครั้ง เนื่องจากเช็คโซลินอยด์แล้วพบว่าระบบน่าจะไม่ได้ทำงานในช่วงที่เร่ง ดังนั้นจึงไม่มีเขม่ามารบกวนการเผาไหม้ในขณะเร่งเต็มที่ ไม่เป็นผลให้ฉุดประสิทธิภาพ ก็อาจจะเลือกกลับมารักษ์โลกดีกว่า
จากการปรับแต่งปรับจูนที่ผ่านมา ต้นเหตุของสมรรถนะหลักๆนั้นมาจากความสมบูรณ์ ที่เครื่องได้รับการดูแลมากขึ้นส่วนหนึ่งแต่ยังน้อยกว่า การปรับจูนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถเปลี่ยนบุคลิคของรถให้ดุดันทันใจได้ขึ้นมาทันที แน่นอนมาถึงจุดนี้แล้วจึงเริ่มสงสัยว่า จะได้ประสิทธิภาพมากขึ้นมาเท่าไหร่ โดยที่ยังไม่เสียเงินโมดิฟาย การวัดผลจึงเกิดขึ้น เดชะบุญไม่ไกลจากบ้านนั้นมี dyno test บริการวัดแรงม้ามาสถิตย์อยู่ เรียกได้ว่าซัดสามเกียร์ถึง และเป็นที่หมายมั่นปั้นมือเอาไว้แล้วว่าโดนกูแน่ที่นี่ เพราะเปิด 24ชั่วโมง เพียงแค่โทรนัดหมายก็เสียเงินได้สบายแฮร์ บ่ายแก่วันอาทิตย์ หลังกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นแสนอร่อย วัดไร่ขิงซอย 22 มาเรียบร้อยกลับมาบ้านก็มานั่งคิดว่า ถึงเวลาหรือยัง คิดไปคิดมาก็เอาวะกดโทรศัพท์สอบถาม ปลายสายบอกว่าพี่มาได้เลยมีรถพึ่งออก แน่หละจะรออะไรซัดหมดสามเกียร์ตีไฟเลี้ยวขึ้นแท่นวัดเลยครับ





หลังจากพูดคุยเล็กน้อย ระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังรัดสลิงอ่อนเข้ากับตัวรถเพื่อกันหลุด เจ้าของก็กล่าวเปรยๆว่าม้าที่ได้อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริงเพราะม้าโบร์ชัวร์นั้นอาจจะวัดที่ฟลายวีล ซึ่งถ้านับตามความทรงจำ เครื่องตัวนี้จะให้แรงม้าที่ 121 แรงม้า(jis) แต่นี่ม้าลงพื้นอาจจะได้น้อยกว่าแน่นอน ซึ่งก็เตรียมๆใจไว้ว่า ขอซัก 110 ตัวก็น่าจะงามๆ เพราะทุกวันนี้ก็วิ่งได้ประมาณหนึ่ง วิ่งพอๆกับรถเบนซินใหม่ที่แรงม้าไม่มากนักได้บ้าง
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ก็เตรียมการวัด โดยจะทำการวัดทั้งหมด 4 รัน ด้วยกัน ทีนี้ก็เหลือแต่มาดูผล
ผลของการวัดดีที่สุดอยู่ที่ 121 แรงม้า และแย่ที่สุดอยู่ที่ 119 แรงม้า อุณหภูมิโดยรอบอยู่ที่ราวๆ 38 องศากว่าๆ และ ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 44% ซึ่งถือว่าวันนี้แม่งร้อนชิบ ความร้อนนี้มีผลค่อนข้างมากกับเครื่องดีเซลเทอร์โบง่อยๆอย่างนี้ เพราะอุณหภูมิอากาศที่ถูกอัดเข้าไปจะยิ่งสูงขึ้น ระดับเป็น 100 องศาอยู่แล้ว ยิ่งอากาศร้อนขนาดนี้ ยิ่งทำให้แรงตก บวกกับความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างต่ำ ไอน้ำในอากาศมีน้อย ก็ย่อมจะส่งผลให้ความระอุมันมาเร็วยิ่งขึ้น โดยรวมได้ม้าลงพื้นมาพอท้วมๆ กับแรงบิด ที่เพิ่มขึ้นเอาการ ที่ 311 นิวตัน-เมตร

หลังจากได้กราฟมานอนเพ้อเล่นๆ ก็พอจะนำไปสู่การปรับแต่งต่อไปอีกขั้น เพราะกราฟช่วงปลาย เหมือนจะไปต่อได้แต่มันติดเพดานอะไรซักอย่างที่เหมือนเครื่องยังพยายามจะไปต่อแต่สะดุดขึ้นสะดุดลงจนหมดช่วงกำลัง ซึ่งถ้าทำสำเร็จแล้วจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป เอาเป็นว่า ณ ตอนนี้เจ้ากระบะผีก็กลายเป็นยานยนต์โบราณที่ยังคงสามารถรักษาเชิงเอาไว้ไม่ให้ใครลูบคมได้ง่ายๆบ้างแล้ว


สำหรับคัมภีร์เบื้องต้นในการปรับจูน อันนี้เข้าใจง่ายที่สุด ไปหละ บรายส์ 
https://www.tillix.com.au/mechanica...


หมายเหตุ หนูทดลองในวันนี้คือ - Ford ranger 2003 WLT-turbo 4wd











บทความที่ได้รับความนิยม