สเวิร์ลแชมเบอร์ #ภาคสอง จูนปั๊มสาย ปรับบูสท์




ก่อนอื่นถ้าใครยังไม่เคยอ่าน ภาคแรก แนะนำให้อ่าน
การเดินทางของเสวิร์ลแชมเบอร์ #ภาคแรก  เสียก่อนจะได้รู้ความเป็นมา



นับจากได้ทำการปรับแต่งเบื้องต้นและวัดแรงม้า ไปเรียบร้อยแล้วก็ยังคงมีความไม่พอใจ
แน่สิก็บอกแล้วในเมื่อเกิดเป็นคนนั้นมันย่อมไม่พออะไรง่ายๆ  ทีนี้ยิ่งไปกันใหญ่เพราะหลังจากวัดแรงม้า ได้กระดาษมาใบที่มีกราฟยึกยือ ก็ยังอยากจะให้กราฟมันขยับตัวมากขึ้นไปกว่านี้อีก แน่นอนระหว่างนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมก็เริ่มติดใจขับรถคันนี้ทุกวัน 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ รถกำลังตกในช่วงที่มีความร้อนสะสมสูงขึ้น  ซึ่งเกิดจากการกดอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงในวันที่อากาศร้อนระอุมากๆ ยิ่งกำลังตกไปค่อนข้างเยอะ อาจจะเป็นคนที่ขับรถมากทุกๆวัน จึงสัมผัสได้ง่ายว่า ม้าหนีไปพักร้อนแล้ว เอาหละเรื่องความร้อนสะสมนี่เรื่องนึงแล้ว

ในส่วนอื่นๆที่ใช้เวลาครุ่นคิดอยู่นาน ว่าจะปรับแต่งอะไรได้อีก ภายใต้คอนเซปท์ แรงแบบพอเพียง ประหยัดคุ้มค่า และดูเดิมๆ ไม่เสียรถ ไม่ใช่ว่าไม่ชอบรถแต่งนะ แต่ด้วยวัยที่ผ่านมาครึ่งชีวิต ก็พบว่าเราควรมีรถเดิมๆแต่แอบหมกเม็ดความแรงบ้างก็ได้แนวทางที่เป็นไปได้ในเรื่องของการปรับแต่งอย่างประหยัดนั้นมีไม่มาก ดังพอจะคิดเป็นข้อๆได้ดังนี้

- ปรับการจ่ายน้ำมันเพิ่ม
- ปรับแรงดันเทอร์โบเพิ่ม หรือ ปรับบูสท์เพิ่มนั่นเอง
- ลดแรงย้อนกลับในท่อไอเสีย

หลังจากได้ความว่า เงินกูน้อย ต้องค่อยๆโมแล้วนั้น ก็มาไล่เรียงในแต่ละข้อกันเลย

 สำหรับข้อแรก 
หากปรับการจ่ายน้ำมันเพิ่มนั้น ด้วยลักษณะของปั๊มแบบกลไก การที่จะปรับให้น้ำมันชดเชยเพิ่มตามแรงดันบูสท์ คือวิธีที่เหมาะสมที่สุด เพราะในขณะเครื่องไม่ติดบูสท์จะจ่ายเพิ่มไปก็เปล่าประโยชน์ และในส่วนนี้ถ้าหากปรับจ่ายน้ำมันเพิ่มขณะที่มีบูสท์มากจนเกินไปก็ไม่เป็นผลดีกับเครื่องยนต์เช่นกัน เพราะ?? 

จากที่ศึกษามาเครื่องยนต์ดีเซลนั้น จะมีช่วงของอัตราส่วนผสมของน้ำมันต่ออากาศที่กว้างกว่าเครื่องเบนซิน การที่มีน้ำมันจำนวนมากเกินไป ก็จะไม่สามารถเผาไหม้ได้หมดเกิดเป็นควันดำขโมงโฉงเฉง ภาษาฝรั่งมันเรียกกันว่า soot
ซึ่งเมื่อไหร่ที่ soot มานี่ จะส่งผลต่ออุณหภูมิท่อไอเสียที่เพิ่มขึ้นด้วยเนื่องจากความร้อนสะสมจากการเผาไหม้เพิ่มขึ้น ในหลายๆตำราฝรั่งบ่งชี้เลยว่า ความร้อนสะสมเหล่านี้เล่นเอาไส้ในเครื่องละลายได้ ในขณะเดียวกันถ้าน้ำมันบางหละ ???

จากที่เสาะหาอ่านมาเช่นกัน ดีเซลสามารถรองรับความบางของน้ำมันได้มากกว่าเบนซินมากนัก และจำนวนอากาศมากกว่าน้ำมันจะช่วยลดอุณหภูมิไอเสียลงอีกด้วย แต่ถ้าน้ำมันบางจัดเครื่องก็จะร้อนเช่นกัน ดังนั้นไม่แปลกที่รถสนามหลายคันควันเพียบ และรถถนนหลายคันก็ควันเพียบเช่นกัน แต่รถถนนเหล่านี้จะแช่กันยาวๆได้หรือไม่นั้น *โดยส่วนตัวแล้ว* ยังไม่เจอสักคันที่แช่ได้ ยาวๆ

ส่วนมากก็จะบูสท์กันจนสุดโข่งแล้วกดสั้นๆกันส่วนใหญ่ รถสนามก็วิ่งพลีชีพกันอยู่แล้วไม่ต้องแคร์อะไร วันนี้เวลาดีพรุ่งนี้ก็ลูกค้าเต็มแล้ว  แถมก็เห็นกันอยู่ตามโซเชียลเสมอว่า เดี๋ยวละลายเดี๋ยวพังเป็นเรื่องปกติในสมัยที่ยังบ้าทำแต่รถนั้นเวลาไส้แตกแบบนี้ถือเป็นเรื่อง fail มากเพราะคือความผิดพลาดที่หมายถึงเรายังทำการบ้านไม่พอ ไม่เหมือนวัยรุ่นสมัยนี้ที่โอ้อวดกันมากมายตามโซเชียลเวลาพัง เอาจริงๆ ถ้าเกียร์พัง เฟืองท้ายพังเพราะรับแรงจากเครื่องไม่ไหวยังจะรู้สึกน่าโอ้อวดมากกว่า  

สำหรับข้อสอง 
ในเรื่องของการปรับแรงดันบูสท์เพิ่มนั้น ก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีและต้องมาควบคู่กับน้ำมันเช่นกัน หลังจากไปส่องๆ โลกโซเชียลเช่นเคย ก็มักมีการแนะนำว่าเครื่องตัวนี้ควรใส่เทอร์โบ 3,000  แล้วเทอร์โบ 3,000 คืออะไรวะ?? พอถามรหัส ก็เงียบๆงงๆกันไป คือไร คือไร  หรือคือ เทอร์โบราคา 3,000 หรือมันรหัส 3,000 หรือมันมาจากเครื่อง 3,000 แบบ เทอร์โบจากเครื่อง 7m-gte รหัส CT26  อะไรแบบนี้

สรุป โบ 3,000 ในความหมายที่เค้าว่ากันคือ เทอร์โบจากเครื่องดีเซลอีซูสุ ความจุ 3,000 ซีซี ประจำการในบอดี้ ดีแมกซ์ นั่นเอง โอเค จากนั้นก็หาต่อไปมันดียังไงในเมื่อ เทอร์โบลูกนี้รหัส ihi rhf4 ซึ่งตามเสปคแล้ว ต้องด้อยกว่าตัวที่อยู่ในรถซึ่งเป็นเทอร์โบ ihi rhf5 ที่มีช่วงทำลมกว้างกว่า ก็ได้บทสรุปว่า อ่อ เดี๋ยวนี้ที่ทำกันคือเอา ihi rhf4 มานั่งกลึงนั่งคว้านเปลี่ยนใบบ้าบอคอแตกซึ่งมันเกินไปจากที่เราต้องการ เพราะรถคันนี้เป็นเพียงรถเอนกประสงค์ ใช้วิ่งขนของส่งของแค่นั้น

โอเค พอรู้แล้วได้คำตอบในใจเลยว่า กูไม่เอาหละ เพราะถ้าจะให้มีเทอร์โบดีๆสักลูกกูเลือกเบิกใหม่หรือซื้อมือสองเป็นรหัส v จากซูบารุดีกว่าไปซื้อจากที่ยำๆกันเพราะไม่ได้ต้องการทำลมอะไรมากนัก ถ้าจะทำลมขนาดนั้น เอาฝา เอาแคม ไปทำก่อนมั้ย?? และค่อยอัดเพิ่มเข้าไปให้หูตูบ 

นอกเรื่องมาซะนานสรุปว่า ihi rhf5 ที่ประจำการอยู่ในรถนั้นดูจากเสปคแล้วรับบูสทำได้ 1.8 บาร์ หรือประมาณ 26 ปอนด์ นั่นคือ maximum pressure ของมันแล้ว ก็ยังแอบตกใจที่เห็นรุ่นนี้หลายคันที่เทอร์โบเดิมบูสท์กัน 25-30 คืออะไรว้า
หลังจากที่ดูเสปคต่างๆก็พบว่ายังเหลือพื้นที่ให้บูสท์เพิ่มจากเดิมโดยปลอดภัยอีกอย่างน้อย
5 ปอนด์ ซึ่งแกนน่าจะยังอยู่ดีและยังทำอากาศได้ดีปกติ (ของเดิมบูสท์ จากภาคแรก 15 ปอนด์) คำถามคือน้ำมันจะพอมั้ยแล้ว มันจะร้อนกว่าเดิมมั้ยในเมื่อตอนนี้พอร้อนก็แรงตกจะแย่แล้ว



สำหรับข้อสาม

นั้นคือเรื่องของการขยายท่อไอเสีย ซึ่งขนาดของท่อเดิมนั้นไม่ต้องสืบอยู่แล้วว่าเล็ก เครื่องขนาด 2,500 ซีซี เทอร์โบที่มีท่อขนาด 2.25นิ้วแถมยังมีแคทตาไลติคด้วยก็ถือว่าเล็กไป ข้อดีคือเงียบ แต่จะทำยังไงให้มันเงียบแต่แรงหละ

หลังจากครุ่นคิดอยู่นานก็เลยได้ความลงตัวที่ เดินท่อใหม่ขนาด
2.5 นิ้วเข้าหม้อพักเดิมๆ และปล่อยออกที่ปลาย 3นิ้วแทนซึ่งเรื่องนี้เถียงกับช่างอยู่พักใหญ่เพราะตอนแรกต้องการท่อขนาด 3 นิ้วทั้งเส้นแต่ใช้หม้อพักเดิม เพื่อให้พอเก็บเสียงเอาไว้บ้าง แต่ช่างขอต่อรอง ไอ้เราก็เลยตามใจเค้าคงกลัวเราทำอะไรบ้าๆแล้วใครถามว่าทำร้านไหนมาจะเสียชื่อเค้ามั้ง เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็คงพอจะมองออกแล้วว่าสุดท้ายผมเลือกจัดการกับท่อไอเสียก่อนเป็นอย่างแรก 


และผลที่ได้ก็น่าพอใจคือเครื่องเดินลื่นขึ้น คันเร่งเบาลง รอบปลายๆไหลขึ้น แต่บูสท์เหมือนจะเต็มช้าขึ้นเล็กน้อย และเงียบเหมือนเดิม อันที่จริงท่อ
3นิ้วทั้งเส้นเข้าหม้อพักเดิมก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะอะไรลองดูตัวอย่างจากชาร์ทนี้ ของพวกฝรั่ง

Tube OD      Tube Radius       Tube ID Radius         Tube Area        Max CFM      Max HP
   2.00                  1.00                    0.94                   2.75             315.84        143.56
   2.25                  1.13                    1.06                   3.53             405.94        184.52
   2.50                  1.25                    1.19                   4.41             507.32        230.60
   3.00                  1.50                    1.44                   6.47             743.96        338.17
   3.50                  1.75                    1.69                   8.92           1025.76        466.26
   4.00                  2.00                    1.94                 11.76           1352.73        614.88

ถ้าจะเทียบเอาเฉพาะ cfm จริงจังก็คงต้องถอดฝาไปวัด flow กันจริงๆ แต่ถ้าคิดง่ายๆสายมโน บวกไอเสียขยายตัวเข้าไปด้วย 3 นิ้วเข้าหม้อเดิม ออก3 นิ้วน่าสนใจที่สุด เพราะจะแรงแต่เงียบและลงทุนน้อย ข้อหลังนี่สำคัญที่สุด เพราะนี่คือรถส่งของ ที่การโมดิฟายนั้นเดิมพันด้วยการศึกษาหาความรู้ล้วนๆ และที่สำคัญผมไม่มีความรู้เรื่องดีเซลมาก่อนแถมยังเป็นสายมั่วตัวยงด้วย ผ่างงงง !!!








เอาหละสรุปว่าสิ่งเริ่มแรกที่ลงมือทำไป คือ ท่อไอเสียสูตรยาใจคนจน หลังจากนั้นก็ทำการ ปรับน้ำมันกันซักหน่อย... โดยเริ่มจากการเปิดฝาปั๊ม หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Boost compensator!! ปรับชดเชยการฉีดน้ำมันให้เร็วขึ้นอีกนิด และ ฉีดเพิ่มอีกในจุดสูงสุดของกรวยชดเชยการฉีดเพื่อเพิ่มน้ำมันรอบปลาย เรียกได้ว่ามากกว่านี้ต้องขันตูดปั๊มแล้วปรับทั้งย่านใหม่หมด ผลที่ได้คือ ควันกลบดาก... เมื่อเครื่องติดบูสท์ควันโชยดำออกมาตลอด... เรียกได้ว่าตามรอยพิมพ์นิยมของสาวกควันดำเลย 

แต่ช้าก่อนเป้าหมายของเรามันไม่ใช่แค่พ่นหมึกอำพราง หรือโปรยควันไปให้เปลืองค่าน้ำมันเล่น แถมแรงตกอีก เผลอแช่นานๆไปเครื่องร้อนด้วย (ตามเหตุผลข้อแรก) ดังนั้นก็มาถึงกระบวนการสุดท้ายคือเพิ่มอากาศเข้าไปในระบบ ตอนนี้หละของแต่งชิ้นแรกปรากฏกายขึ้นมาแล้วคือ ปรับบูสท์มือ เพื่อความสะดวกในการปรับจูน เพื่อที่จะต้องค่อยมาหนุนแหวนหรือ ทำเกลียวที่ขาเวสเกต ซึ่งอันที่จริงเทคนิคการใช้ปรับเกลียวที่เวสเกตมันก็มีดีนะว่างๆค่อยแจงละกัน เอาเป็นว่าตามที่บอกว่า เทอร์โบสามารถรับบูสท์ได้อีกสัก 5 ปอนด์ ซึ่งแน่นอนว่าเพิ่มภาระให้กับเทอร์โบ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เข่นฆ่าหอยน้อยๆจนต้องตายคาเครื่อง 

ดังนั้นก็จัดการเลยครับ  20 ปอนด์สวยๆ ผลคือยังพอจะมีควันหลงอยู่บ้างจางๆมากๆ ซึ่งถือว่าโอเค แต่ถามว่าพอใจหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ มันควรจะน้อยสุดๆ เพราะสำหรับผมควันไม่ได้มีไว้บอกว่ารถคันนี้ทำ รถคันนี้แรง  .... รถดีเซลอย่าง bmw หรือ benz ไม่มีควันกลบๆมาให้เห็นแต่วิ่งเป็นจรวดมีถมเถ เพราะถ้าค่ายรถเหล่านี้จะต้องทำรถม้าเยอะแต่ควันท่วมมาวางตลาดแล้วนั้น..... เออไม่พูดละนะเข้าเรื่องต่อ
สุดท้ายแล้วจึงเริ่มคิดว่าถ้าอยากจะบูสท์ขนาดนี้ และน้ำมันควันจางๆแบบนี้แล้ว ลองลดอุณหภูมิอากาศดูดีหรือไม่
มาถึงตรงนี้เลยแวะออกนอกลู่นอกทางไปทำระบบลดความเย็นกันเล็กน้อย แวะไปอ่านดูได้ที่ 

ฉีดน้ำอินเตอร์ #ปฐมบท

เอาเป็นว่าหลังจากปรับแต่งไปเรียบร้อยตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ม้าในรถมันก็เริ่มคึกคักอีกครั้ง จากครั้งที่แล้วม้าแก่กลับมาเป็นม้าหนุ่ม มาเที่ยวนี้มันเริ่มเพาะกล้าม...

หลังจากขับไปขับมาอยู่พักใหญ่ก็พบว่า ไอ้รถเก่าๆคันนี้สามารถเก็บรถ เครื่องคอมมอนเรลในพิกัด 2.5 ได้หลายค่าย และที่ตลกร้ายที่สุดคือไอ้เจ้า all new pajero sport สมาชิกใหม่ที่พึ่งเข้ามาอยู่ในบ้านต้องพ่ายให้กับเจ้าถิ่นเดิมอย่าง แรนเจอร์ ตั้งแต่เกียร์แรกยาวไปตลอดทางจน 160 ซึ่งคนขับยอมรับว่า floor the pedal จนสุดแล้ว ยังไม่สามารถทำอะไรอีแก่แรนเจอร์ได้ ซึ่งคนขับก็เป็นขาซิ่งคนหนึ่งที่ขับรถได้เร็วอยู่  เรื่องมันชักจะใหญ่โตไปกันใหญ่แล้วเว่ยเฮ่ย เอาหละมากันขนาดนี้แล้วต้องวัดผลให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย

ว่าแล้วพาแม่ย่านางขึ้นรถไปปั่นไฟกันเลย


การวัดแรงม้าครั้งนี้ วัดแบบเบี้ยน้อยหอยน้อยเช่นเดิม คือวัด 1 ครั้ง ได้ 4 รัน ก็เลยแบ่ง ทั้ง 4 รันเป็น 4 การโมดิฟาย อ่ะดูกราฟกันก่อน (กราฟเดิม 121 ยกมาเป็น base line เส้นสีแดง ) *** อุณหภูมิขณะทำการวัดครั้งนี้ 33 องศา ความชื้นสัมพัทธ์ 60% ถือว่าเย็นแต่เริ่มตัวเหนอะๆนิดหน่อย


วัดครั้งแรก   ปรับบูสท์ลดลงเหลือ 15 ปอนด์ ในขณะที่ ตัวน้ำมันไม่ได้ปรับตามลงไป ควันท่วมท้นสะใจวัยโจ๋ แล้วได้อะไรบ้าง ที่บูสท์ 15 ปอนด์ น้ำมันท่วมๆ ควันโฉงเฉงได้ม้าสำลักควันตายไปเพียบที่ 115 ตัว แถมแรงบิดยังหายไปอีกด้วย เหลือ 290 แล้วมีอะไรทีดีบ้าง เท่าที่ดูก็ยังไม่เห็นนะ เส้นสีฟ้าอ่อน


วัดครั้งที่สอง

ทำการปรับบูสท์เพิ่มขึ้นมาเป็น
20 ปอนด์ ม้าเริ่มตื่นหลังควันจางลงไป กลับมาทำงานให้ได้ควบได้ขี่กันบ้างที่ 126 ตัว และแรงบิดก็ตามมาที่ 313 นิวตันเมตร ถือว่าโอเคและพอใจนะ
เส้นสีเขียวอ่อน

วัดครั้งที่สาม
ทำการเปิดระบบฉีดน้ำอินเตอร์คูลเลอร์ ทีนี้ม้าที่งัวเงียเมื่อได้น้ำไปตบกะโหลกก็ตื่นขึ้นมาอีก 4 ตัว สรุปได้ม้าที่ 130 ตัว และแรงบิดเพิ่มขึ้นมาเป็น 314 นิวตันเมตร ถือว่าพอใจเช่นกันเพราะ ขณะที่กดนั้นควันหายไปหมด  และความเนียนของกราฟแรงม้านั้นเห็นได้ชัดเจนว่า ราบเรียบขึ้นมาก 
เส้นสีเหลือง

*
อย่าลืมว่านี่คือเครื่องที่จูนด้วยระบบกลไกไขควงและประแจล้วนๆ*


วัดครั้งที่สี่
เป็นการฉีดน้ำเข้าที่ตัวเครื่อง ซึ่งในขณะที่วิ่งจริงนั้นให้ผลดีในด้านของการลดความร้อนแต่กลับฉุดแรงม้าให้หล่นลงอย่างเห็นได้ชัด จะมีส่วนที่แรงม้าและแรงบิดได้เปรียบก็ในช่วงที่เทอร์โบเริ่มจะติดบูสท์เพียงเล็กน้อย (อย่างมีนัยยะสำคัญ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไปว่าปริมาณน้ำยังไม่ atomized พอหรือไม่ อาจต้องลดขนาดหัวฉีดและเพิ่มแรงดันฉีดให้มากขึ้น แรงม้าที่หล่นหายไป 2 ตัว กับแรงบิด 5 นิวตันเมตรถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข  แต่กระนั้นก็ยังเนียนกว่า สเตป บูสท์ล้วนไม่มีการลดความเย็น สำหรับการปรับปรุงแล้วจะนำมาอัพเดทกันต่อไปนะจร๊ะ เส้นสีน้ำเงินเข้ม



สรุป
จากที่เห็นข้างต้นแล้วว่ามีความพยายามจะทำให้ ควันไม่ดำ
และเชื่อว่ามันวิ่งกว่ารถควันท่วม เพราะรถเพื่อนอีกคันเป็นคอมมอนเรลดันราง เปลี่ยนหัวฉีด ใช้มาพักใหญ่ควันเริ่มดำจึงแนะนำให้ล้างอินเตอร์คูลเลอร์ ....ผลที่ได้ชัดเจนดี

ทั้งนี้อาจจะแตกต่างจากทฤษฎีหรือ ความเข้าใจ หรือความเชื่อ
อื่นๆของหลายๆท่าน สำหรับตรงนี้ก็ขอถือเป็นความพอใจส่วนตัว (กู) ก็แล้วกัน ใครจะหนาจะดำก็ตามอัธยาศัยครับ



โดยรวมแล้วถือว่าตอนนี้ ขับสนุกมากเกียร์ต่อเกียรไปได้ต่อเนื่อง  ในส่วนของการที่ไปเก็บ
ppv  และรถกระบะ บางส่วนมานั้นก็ขอให้เข้าใจว่า แรงม้าลงพื้น กับแรงม้าโบรชัวร์นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ยังไม่รวมตัวแปรที่เกิดจากแรงม้าต่อน้ำหนักอีกด้วย อาทิ ปาเจโร ที่มีน้ำหนัก 2 ตัน สมมุติวัดม้าลงพื้นได้ 140 ตัว ม้าแต่ละตัวก็น่าจะแบกน้ำหนักราว 14 กก. ส่วนอีแก่แรนเจอร์นี้ ถ้าจำไม่ผิดจะมีน้ำหนักสิริรวม 1700 กิโล วัดม้าลงพื้นได้ 130 ตัว ม้าแต่ละตัวก็น่าจะแบกน้ำหนักราว  13 ก.ก เป็นต้นจึงไม่แปลกที่ อีแก่จะเร่งได้ฉิวจนปาเจโรเอาไม่ลงนั่นเอง เห็นอย่างนี้แล้วแทบอยากถอดเอากระบะท้ายทิ้งวิ่งแต่คัทซีมันซะเลย 5555
หลังจากนี้ก็คงสนุกกับขับขี่แบบนี้ไปก่อน ไว้มีอะไรใหม่ๆค่อยมาอัพเดทกันต่อไป....เอาเป็นว่าในใจอย่างยกทั้งกราฟบิด และม้าขึ้นอีกหน่อย สำหรับวันนี้ไปก่อนหละ บรายส์



หมายเหตุ หนูทดลองในวันนี้คือ - Ford ranger 2003 WLT-turbo 4wd












บทความที่ได้รับความนิยม