ปลุกผี ลูกลอยถังน้ำมัน






สวัสดีครับ วันนี้เป็นวันศุกร์ วันที่หลายๆคนอยากจะตะโกนว่า ฮูเร่ศุกร์แล้วเว่ย TGIF จากนั้นก็อาจจะฉลอง ออกพบปะเพื่อน แฮงค์เอ้าท์ ออกกำลังกาย ไปนวด หรือทำอะไรก็ตามแต่ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง สำหรับเสือติดกรงอย่างผม แน่นอนว่าขอเลือกอยู่บ้านเงียบๆ แล้วหาอะไรทำไปเรื่อยๆดีกว่า 

ทุกวันศุกร์ถ้าไม่มีเป้าหมายทำรถอะไรจนต้องไปซื้ออะไหล่ ผมก็จะกลับมามองเจ้ารถคันเก่าที่บูรณะคาอยู่นานแสนนานว่ายังมีอะไรต้องทำอีกหรือไม่ วันนี้ก็เช่นกันหลังจากดูรายการบูรณะยาวเป็นหางว่าวแล้ว ก็มาลงตัวกับงานที่น่าจะทำให้จบได้ในคืนศุกร์เช่นนี้ โดยที่ไม่ต้องมีอะไหล่อะไรให้วุ่นวาย นั่นก็คือ "ลูกลอยถังน้ำมัน"

รถของผมจอดดองมาเป็นระยะเวลานานหลายปีมาก เพราะค่อยๆประกอบยามว่าง จนมาถึงบัดนี้เอาเครื่องวางลงไปและสามารถสตาร์ทได้แล้ว แต่หลังจากทิ้งๆเอาไว้ เกจ์วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิงก็เริ่มรวนเร  ผมเองเติมน้ำมันเจ้าคันนี้ไปไม่มาก
เอาแค่พอสตาร์ทได้ แต่เกจ์วัดน้ำมันนั้นเต็มถังตลอด "เอาแล้วจุ้ย"


เอาหละมาดูหลักการทำงานคร่าวกันหน่อย เกจ์วัดน้ำมันกับลูกลอยนั้นทำงาน อย่างไรบ้าง ในรถโบราณของผม จะเป็นเกจ์วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเก่า ที่มีการทำงานไม่ซับซ้อน ดังนี้ 

- เมื่อบิดสวิทซ์ไปยังตำแหน่ง
IG
หรือตำแหน่ง ignition ซึ่งคือการบิดกุญแจไปยังตำแหน่งที่สอง จะมีกระแสไฟจ่ายเข้าไปยัง หน้าปัด ขออนุมานกลมๆว่า เป็นไฟ 12 โวลท์ก็แล้วกัน ซึ่งกระแสไฟที่ว่าจะไหลไปยังส่วนต่างๆของวงจรย่อย อาทิวัดความร้อนน้ำ วัดรอบเครื่องยนต์ เป็นต้น ในส่วนของวงจรวัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟ12 โวลท์ จะถูกลดทอนลงด้วย จนเหลือประมาณ 5-6 โวลท์ ภายในเกจ์ และไอ้เจ้าไฟ 5-6 โวลท์นี้จะต่อออกจากเกจ์ไปยัง ลูกลอยที่แช่อยู่ในถังน้ำมันท้ายรถ

-ทีนี้ ในเกจ์วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ส่วนที่ทำให้เข็มกระดิกไปกระดิกมา มันจะมีขดลวดในเกจ์อีกตัว ที่เมื่อลวดร้อนหรือเย็นแล้วเข็มจะตีขึ้นหรือลง การที่ขดลวดตัวนี้จะร้อนหรือเย็นจนส่งผลให้เข็มกระดิกนั้นมันก็ใช้ไอ้ไฟ 1.5-5 โวลท์ที่ไปลงกราวด์กับลูกลอยในถังนี่หละเป็นตัวกำหนด

- ไฟ 5-6 โวลท์นี้เมื่อเข้าไปยังลูกลอยก็จะต่อไปยัง ขดลวด ทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวความต้านทานปรับค่าได้ โดยจะพันอยู่รอบๆแกนพลาสติก และมีหน้าสัมผัสที่ต่อจากก้านลูกลอยมาสัมผัส ซึ่งการเคลื่อนที่ของลูกลอย เมื่อระดับน้ำมันในถังเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้กระแสไฟจากเกจ์วัดมาลงกราวด์แตกต่างกัน กล่าวคือ

- ถ้าระดับน้ำมันในถังมีมาก ระดับลูกลอยอยู่สูง ความต้านทานจะมีมาก กระแสไฟที่ผ่านลงกราวด์ที่ลูกลอยได้ก็จะอยู่ราวๆ 1.5โวลท์ ก็คือไฟมันมาลงกราวด์ไม่ค่อยได้นั่นเอง

- แต่เมื่อใดที่ระดับน้ำมันมีน้อย ลูกลอยลอยต่ำลง ความต้านทานจะมีน้อย กระแสไฟลงกราวด์ก็จะอยู่ราวๆ 5 โวลท์ มีเท่าไหร่ก็ส่งลงกราวด์กันให้สะดวกโยธิน

อาจจะเข้าใจยากแต่ ดูภาพ ดูคลิป หรือหาอ่านจากแหล่งอ้างอิงอื่นๆเพิ่มอาจจะพอเข้าใจได้มากขึ้น เพราะผมเองพิมพ์เองก็ยังงงๆในตัวเองอยู่เลย 

ปล.ในรถสมัยใหม่ระบบเกจ์วัดอาจมีความแตกต่างกันออกไปไม่เหมือนแบบนี้ทั้งหมดนะครับ



เอาหละในเมื่อตอนนี้มันเต็มถังตลอดเวลา ก็ต้องมาไล่หาเหตุกันหน่อย 

ในขั้นตอนแรกถึงแม้จะรู้ว่าลูกลอยเน่าแน่นอน แต่การที่เกจ์วัดมันขึ้นเต็มถังตลอดนั้น
ผมก็ไม่วายที่จะตรวจสอบดูหลังหน้าปัทม์ด้วยว่ายังทำงานปกติหรือไม่ และแล้วก็







มันก็เหมือนไปตลาดสด ถ้าไม่เจอผักสด ก็คงไม่ใช่ตลาด  หนึ่งในตัวการที่พบก็คือ
ลายวงจร ขั้วกราวด์ของเกจ์วัดระดับน้ำมันขาด จึงเป็นเหตุให้กระแสไฟที่เข้าเกจ์วัดไม่สามารถลงกราวด์ได้ นี่ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของเจ้ารถอิ่มทิพย์ ที่มีอาการน้ำมันเต็มถังตลอดเวลา


ดูด้วยตาอย่างเดียวมันไม่แน่นอน ต้องให้ชัวร์ว่ามันยังไม่พังจนแก้ไม่ได้ เพราะถ้าพังจนแก้ไม่ได้แล้วหาแผงหน้าปัทม์ใหม่ง่ายกว่า ผมเลยเอาสายปากตุ๊เข้ (นามสมมุติ) มาหนีบเข้าที่ขั้วกราวด์ แล้วต่อให้ลงกราวด์กับตัวถัง เมื่อบิดกุญแจก็พบว่า เข็มเริ่มลดระดับลง






ผมจึงจัดการช่วยเหลือเร่งด่วน เดินสายไฟบายพาส มันซะเลย โดยย้ำหางปลาแบบกลม ถ้าจำไม่ผิด เค้าเรียกชนิด R  โดยลากสายจากเกจ์วัดระดับน้ำมันเชื่อเพลิงไปลงกราวด์กับ เกจ์วัดความร้อนน้ำหม้อน้ำ ตามแบบของลายวงจรเดิม หางปลานี้ขันเข้าไปกับน๊อตข้างหลังของเกจ์วัด ซึ่งใครถ้าจะทำการบายพาสแบบนี้ต้องขันน๊อตเบาๆเอาแค่พอรู้สึกว่าอยู่
เพราะถ้าออกแรงหนักมือเมื่อไหร่ ลวดทองแดงข้างในจะขาดตามไปด้วย ทีนี้หละไม่ต้องใช้มันแล้ว รื้อออกมาบัดกรีสถานเดียวครับ  ส่วนสาเหตุที่ลายวงจรขาดนั้นน่าจะมาจากการรื้อเข้ารื้อออกหลายครั้งคงไปเบียดโดนอะไรเข้าอย่างแน่นอน






เพื่อให้จบครบกระบวนยุทธ ก็มาต่อกันที่ลูกลอยเข็มจะได้ทำงาน กวัดแกว่งด้วยความแม่นยำ 
เริ่มจากรื้อเอาตัวลูกลอยออกมา สภาพก็ไม่ต้องสืบ
เพราะผมรู้อยู่แล้วว่ามันเน่า แต่ก็ใส่เข้าไปหลังจากล้างถังน้ำมันเสร็จเพราะในเวลานั้นยังไม่ได้เดินสายไฟตัวรถจนเรียบร้อย และยังไม่มีเครื่อง ต่างกับตอนนี้ที่เครื่องติดแล้วต้องเริ่มเก็บให้สมบูรณ์ 












เมื่อถอดออกมาแล้วก็นำมาเปิดฝาครอบเหล็ก เพื่อทำการขัดสนิม ต้องร้องโอ้โห แม่งเน่ากว่าที่คิดอีก  ผมใช้คอนแทคคลีนเนอร์  ฉีดแล้วขัดด้วยแปรงทองเหลือง  กับ คอทตอนบัด อ้อ คอนแทคคลีนเนอร์ ยี่ห้อไม่ต้องแพง ของแพงบางทีมันแห้งเร็วไปมันไม่ค่อยเหมาะกับงานกรังๆมากๆ
เวลาขัดต้องระวังในส่วนของเส้นลวดเล็กๆตรงจุดสัมผัสพอสมควรครับ 











เมื่อเริ่มสะอาดดีแล้ว ก็มาไล่เช็ค ความต่อเนื่องด้วยมัลติมิเตอร์ เพื่อให้ชัวร์ ว่าไฟมันจะเดินดี มาถึงตรงนี้ ผมเจอปัญหาเรื่องความสว่าง อย่าลืมว่านี่คือศุกร์เย็น  ผมทำในเวลากลางคืน มันมองไม่ค่อยชัด รู้แต่ว่าเมื่อวัดความต่อเนื่องระหว่างขั้ว กับ ขดลวดแล้วมันไม่เจอ เสียงมิเตอร์มันไม่ ปี๊บๆ ก็แสดงว่า มันไม่ต่อเนื่องกัน เอาหละสิต้องพึ่งแว่นขยายกันหน่อย ซึ่งเมื่อส่องดูดีๆแล้วก็พบว่า มันมีคราบฟิล์มของน้ำมันบางๆไปเคลือบอยู่บนขดลวดทั้งหมด  ผมจึงทำการขัดออกอย่างเบามือมากๆ ด้วยแปรงทองเหลือง และเช็ดด้วย คอทตอนบัด อีกครั้ง






อาหละคราวนี้ ไฟเดินแล้ว จากนั้นก็ลองต่อไฟเข้าไปดู เพื่อจะได้รู้ว่า เวลาลูกลอยมัน เคลื่อนตัวขึ้นลง ค่าของโวลท์มันเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตามนี้ครับ 





สุดท้ายเมื่อมั่นใจแล้วก็นำไปประกอบกลับให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จสิ้น ก็ถือว่าจบงานกันไปกับการแก้ไข ซ่อมบำรุง ทำไปสบายกระเป๋าไป ไม่ต้องซื้อลูกลอยใหม่
 (จริงๆผมซื้อมาแล้วนะ แต่มันคันๆ ถ้าเอะอะเราก็เปลี่ยนอย่างเดียว มันไม่สนุก )

สำหรับใครที่มีรถเก่าๆ แล้วลูกลอยมีปัญหา อาจจะลองแกะมาทำความสะอาดกันบ้าง เพราะตัวลูกลอยนี้แทบไม่มีความซับซ้อนอะไรเลย ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ 





หนูทดลองในวันนี้คือ
KE70  - 4A-GZE













รวมลิงค์บทความทั้งหมด คลิกที่นี่





บทความที่ได้รับความนิยม